1/04/2010

เหมืองแร่กับสิ่งแวดล้อมบนเส้นทางขนาน จริงหรือ?

ปัจจุบันกระแสการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รับการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น ประชาชนมีความตื่นตัวในการรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น และการให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อสุขภาพเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงให้ได้เห็นผ่านสื่อบ่อยขึ้น เช่นคำว่า HIA = Health Impact Assessment (การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ) นอกเหนือไปจากคำว่า EIA = Environmental Impact Assessment (การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้มานาน จริงๆ ผลกระทบต่อสุขภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นคำที่กว้างกว่า การชูประเด็นด้านสุขภาพออกมาโดยแยกออกมาจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เป็นการให้ความสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการขยายรายละเอียดย่อยของประเด็นสุขภาพ ซึ่งเป็นการดีต่อการใคร่ครวญในกิจกรรมใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง

เมื่อไม่นานมานี้ประเด็นเรื่องการระงับโครงการที่มาบตาพุต เกี่ยวพันทางด้านสิ่งแวดล้อม และการตีความด้านรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูกก็ฉุดกระแสสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่สนใจของสังคม กระแสเรื่องเหมืองทองคำที่ภาคอีสาน และเมื่อวานทางทีวีช่องหนึ่ง พูดเรื่องเหมืองหินที่สงขลา ซึ่งผู้เขียนเคยได้รับความอนุเคราะห์เข้าเยี่ยมชม

จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมทุกแขนง มีผลกระทบต่อชุมชนได้ทั้งสิ้น ปิโตรเคมี ก๊าซ อาหารเครื่องดื่ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมของเราทุกคนก็ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราเอง เช่น จากน้ำทิ้ง ขยะมูลฝอย หรือแม้แต่การเกษตรกรรม ขอเสียจากการเกษตรก็ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน มีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรมมีผลต่อภาวะเรือนกระจก และใครๆก็ชอบพูดว่าก๊าซเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ธรรมชาติเองก็มีการเคลื่อนไหวปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา รังสีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกหยิบยกมาสร้างเป็นหนังแนววิทยาศาสตร์ของวันสิ้นโลก หรืออุกาบาศก์ชนโลกที่เป็นหนังคลาสสิคแนวนี้ในอดีต ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง (จริงๆ ภัยพิบัตเหล่านี้เรียกวันสิ้นโลกก็คงไม่ถูก เพราะโลกอาจไม่สิ้นไป แต่มนุษย์อาจสูญพันธุ์เท่านั้นเอง) สิ่งอันใดที่เกิดกับไดโนเสาร์ได้ก็คงเกิดกับพวกเราเผ่าพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า "มนุษย์" ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว น้ำท่วม ซึนามิ พายุ ฯลฯ เหล่านี้เป็นอิทธิพลธรรมชาติ ซึ่งบางคนเชื่อว่าบางอย่างกิจกรรมของมนุษย์ส่งเสริมให้เกิดมากขึ้น หรือเกิดรุนแรงขึ้น บางคนอาจเชื่อว่าไม่มีนัยสำคัญ เพราะแม้มนุษย์ไม่ทำอะไร อย่างไรมันก็ต้องเกิดอยู่แล้ว ยังไม่มีใครยืนยังได้อย่างชัดแจ้งแต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนแค่ต้องการจะสื่อว่า การกระทำและผลกระทบที่ตามมาเป็นตัวแปรที่ซ้อนกันอยู่ในหลายมิติ ซึ่งมีผลที่เกิดมาจากธรรมชาติเองและผลจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ สิ่งที่เราเรียกว่าการแก้ไขปัฐหาในอดีต ผลที่ตามมาจะกลายเป็นปัญหาใหม่ที่รอให้เราแก้ไขในอนาคต กระแสตื่นตัวจึงดูเหมือนขึ้นอยู่กับกาลเวลา การให้ความสำคัญและการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสนใจของสังคม ผมไม่อยากเห็นการนำเสนอที่ไม่รอบด้าน หรือมีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจว่าในภาพรวมเป็นอย่างนั้นได้ง่ายๆ

ในอดีต เราพัฒนาความเจริญ เรียกว่ายุคอุตสาหกรรมจากถ่านหิน เหล็ก นำความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว เพราะเครื่องจักรในโรงงาน หรือรถไฟใช้พลังไอน้ำจากการเผาถ่านหินทั้งสิ้น เราเริ่มรู้จักน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าในยุคถัดมา หากเราไม่พัฒนาสิ่งเหล่านี้ มนุษย์คงต้องมีแค่ขวานหิน เสื้อหนังสัตว์ คบเพลิงจากไขมันสัตว์ และการเดินทางแต่ละวันก็คงไม่ได้ไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเหมือนดังเช่นทุกวันนี้ ซึ่งเราห่างไกลจากสิ่งเหล่านั้นมานานหลายพันปี และเราคงไม่หวนกลับไปมีวิถีชีวิตอย่างเช่นมนุษย์ถ้ำในอดีต เพราะหากแค่ไฟฟ้าดับทั้งประเทศเพียง 1 วัน ประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศใดในโลกคงเกิดความโกลาหลกันน่าดู แม้กระนั้น การใช้ทรัพยากรก็คงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ควรควบคู่กันไป ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมืองแร่กับสิ่งแวดลล้อมก็คงเป็นนิยามที่ว่าทั้ง 2 สิ่งควรจะต้องเดินเคียงข้างคู่ขนานกันไป ไม่ใช่เรื่องของเส้นขนานที่ไม่บรรจบกันและต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งครับ

ขอต้อนรับสู่ blog เรื่องเหมืองแร่

สวัสดีครับชาวเหมืองทุกท่าน ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่สาระความรู้และความบันเทิงด้านเหมืองแร่
เนื่องจากผู้เขียนอยู่ในวงการนี้ จึงอยากให้ blog เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดกว้างในการรับรู้ข่าวสารด้านเหมืองแร่กันครับ

ยินดีต้อนรับผู้ที่สนใจทุกๆท่านเข้าร่วมเป็นเพื่อน พี่น้อง กันครับ

สถิติการเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทย (GDP) 2544-2553

ที่มา: สำนักงานสถิติฯ