
เมื่อไม่นานมานี้ประเด็นเรื่องการระงับโครงการที่มาบตาพุต เกี่ยวพันทางด้านสิ่งแวดล้อม และการตีความด้านรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูกก็ฉุดกระแสสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่สนใจของสังคม กระแสเรื่องเหมืองทองคำที่ภาคอีสาน และเมื่อวานทางทีวีช่องหนึ่ง พูดเรื่องเหมืองหินที่สงขลา ซึ่งผู้เขียนเคยได้รับความอนุเคราะห์เข้าเยี่ยมชม
จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมทุกแขนง มีผลกระทบต่อชุมชนได้ทั้งสิ้น ปิโตรเคมี ก๊าซ อาหารเครื่องดื่ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมของเราทุกคนก็ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราเอง เช่น จากน้ำทิ้ง ขยะมูลฝอย หรือแม้แต่การเกษตรกรรม ขอเสียจากการเกษตรก็ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน มีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรมมีผลต่อภาวะเรือนกระจก และใครๆก็ชอบพูดว่าก๊าซเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน


ในอดีต เราพัฒนาความเจริญ เรียกว่ายุคอุตสาหกรรมจากถ่านหิน เหล็ก นำความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว เพราะเครื่องจักรในโรงงาน หรือรถไฟใช้พลังไอน้ำจากการเผาถ่านหินทั้งสิ้น เราเริ่มรู้จักน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าในยุคถัดมา หากเราไม่พัฒนาสิ่งเหล่านี้ มนุษย์คงต้องมีแค่ขวานหิน เสื้อหนังสัตว์ คบเพลิงจากไขมันสัตว์ และการเดินทางแต่ละวันก็คงไม่ได้ไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเหมือนดังเช่นทุกวันนี้ ซึ่งเราห่างไกลจากสิ่งเหล่านั้นมานานหลายพันปี และเราคงไม่หวนกลับไปมีวิถีชีวิตอย่างเช่นมนุษย์ถ้ำในอดีต เพราะหากแค่ไฟฟ้าดับทั้งประเทศเพียง 1 วัน ประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศใดในโลกคงเกิดความโกลาหลกันน่าดู แม้กระนั้น การใช้ทรัพยากรก็คงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ควรควบคู่กันไป ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมืองแร่กับสิ่งแวดลล้อมก็คงเป็นนิยามที่ว่าทั้ง 2 สิ่งควรจะต้องเดินเคียงข้างคู่ขนานกันไป ไม่ใช่เรื่องของเส้นขนานที่ไม่บรรจบกันและต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งครับ
