3/18/2010

สิ่งที่เรียกว่า "ทองคำขาว"


ในวงการเครื่องประดับ เรามักได้ยินคำว่า ทองคำขาว ซึ่งสร้างความสงสัยว่าทองคำมีสีขาวด้วยหรือ จนหลายคนเข้าใจผิดว่ามีทองคำสีขาว แต่จริงๆแล้วสิ่งที่เราเรียกว่า ทองคำขาวนั้นไม่ใช่ทองคำ แต่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แพลทินัม Platinum (Pt) วันนี้เรามาทำความรู้จักธาตุที่มีในธรรมชาติที่เรียกว่า แพลทินัมกันดีกว่าครับ

Platinum (Pt)
แพลทินัม

คุณสมบัติทั่วไป

1.เลขอะตอม 78 เป็นธาตุที่ 3 ของคาบที่ 7 ของหมู่ VIII ในตารางธาตุ จัดเป็นโลหะและโลหะทรานซิชัน
2.น้ำหนักอะตอม 195.09 amu
3.จุดหลอมเหลว 1769.3 ํc
4.จุดเดือด 3827 ํc
5.ความหนาแน่น 21.45 g/cc ที่ 20 ํc
6.เลขออกซิเดชันสามัญ +2, +4

การค้นพบ

Julius Caesar Scaliger ในปี ค.ศ. 1557 ได้เขียนถึงสาร ๆ หนึ่งที่พบในเหมืองในอเมริกากลางว่า ไม่สามารถหลอมโดยไฟหรือวิธีการอื่น ๆ ที่ทราบในสมัยนั้น สาร ๆ นี้ตามหลักฐานที่ปรากฎน่าจะเป็นแพลทินัม

ในกลางศตวรรษที่ 18 มีการอ้างอิงถึง "Platina" ว่าเป็นสารปนเปื้อนหรือสารที่ไม่ต้องการของทองคำ ตามเหมืองในประเทศโคลัมเบียในปัจจุบัน

William Brownrigg แพทย์ชาวอังกฤษได้ทำการทดลองเกี่ยวกับธาตุนี้และได้รายงานผลกับ Royal Society ของอังกฤษในปี ค.ศ. 1750

ในปี ค.ศ. 1775 de l'Isleสามารถหลอมแพลทินัมที่ได้สกัดเอาเหล็กและทรายออกไปแล้ว โดยใช้ aqua regia ทำให้ตกตะกอนเป็น ammonium chloroplatinate แล้วตกตะกอนที่ได้นี้ไปเผา

ในปี ค.ศ. 1803 W.H. Wollaston ชาวอังกฤษก็สามารถเตรียมแพลทินัมบริสุทธิ์ได้ โดยการศึกษาสารละลาย aqua regia ของแพลทินัมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างละเอียด ซึ่งผลจากการศึกษานี้ เขาค้นพบธาตุใหม่อีกสองธาตุคือ แพลเลเดียม (Pd) และโรเดียว (Rh) ด้วย Platinum มาจากคำสเปน platina แปลว่า silver (เงิน)

การใช้ประโยชน์

แพลทินัมเป็นโลหะในตระกูลแพลทินัมที่มีปริมาณการใช้มากที่สุด (สถิติในปี ค.ศ. 1965 ปริมาณ 43 % ของโลหะในตระกูลแพลทินัม) และส่วนใหญ่ใช้ในรูปของโลหะอิสระและในรูปของผงละเอียดดังนี้

1. ใช้เป็นตัวเร่งสำหรับปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) และปฏิกิริยาการดึงเอาไฮโดรเจนออก (dehydrogenation) ในเคมีอินทรีย์

2. ใช้เป็นตัวเร่งสำหรับดัดแปลงโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนในกระบวนการไอโซเมอไรเซชัน เพื่อเพิ่มเลขออกเทนของน้ำมันเชื้อเพลิง

3. ใช้เป็นตัวเร่งช่วยทำให้แก๊สบริสุทธิ์โดยกระบวนการออกซิเดชันหรือการเติมไฮโดรเจน

4. มีการใช้บ้างในกระบวนการคอนแทก (Contact process) เพื่อผลิตกรดซัลฟุริก

ความเป็นพิษ

แพลทินัมในรูปธาตุอิสระไม่ปรากฏเป็นพิษ แต่เกลือที่ละลายได้เป็นพิษ ในรูปของ ผงละเอียดอาจติดไฟได้

--------------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : ดร.ชัยวัฒน์ เจนวาณิชย์
ที่มา : รวบรวมจาก หนังสือสารานุกรมธาตุ
คัดลอกมาจาก http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet5/topic2/Pt.html

No comments:

Post a Comment

สถิติการเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทย (GDP) 2544-2553

ที่มา: สำนักงานสถิติฯ